ส่อง “เทรนด์เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ทั่วโลก พร้อมแนวทางปรับใช้ พัฒนาการเกษตรไทยยุคดิจิทัล

ส่อง “เทรนด์เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ” ทั่วโลก พร้อมแนวทางปรับใช้ พัฒนาการเกษตรไทยยุคดิจิทัล
มีข้อมูลจาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุว่า แรงงานพื้นที่ทำการเกษตรในปัจจุบันกำลังลดลง โดยปัจจัยหลักที่ทำให้กิดปรากฎการณ์นี้ คือ กฎระเบียบทางการค้าทั้งในการส่งสินค้าเพื่อจำหน่ายในตลาดในประเทศและการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้น กดดันให้ภาคการเกษตรของไทยต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การทำ ‘เกษตรสมัยใหม่’ หรือ ‘เกษตรอัจฉริยะ’ และเน้นสร้างผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพ ด้วยการปรับรูปแบบการผลิตโดยอาศัย เทรนด์เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ร่วมกับการผลิตในแบบ ‘จากฟาร์มสู่ผู้บริโภค’ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ว่าจะได้รับประทานผลผลิตที่มาจากความใส่ใจ และความตั้งใจ ของเกษตรกรตัวจริง
โดยในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าข้อเท็จจริงที่กล่าวมานี้ ได้กลายเป็น เทรนด์การทำเกษตรอัจฉริยะ ที่ภาคการเกษตรทุกระดับต้องนำไปประยุกต์เพื่อปรับตัว หากยังอยากได้ชื่อว่า เป็นผู้ผลิตผลผลิตทางการเกษตรคุณภาพ เลี้ยงชีวิตผู้คนต่อไป

ซึ่งแนวคิดเทคโนโลยีการเกษตรแห่งยุค ที่มาปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและยกระดับการทำการเกษตรในยุคนี้ ก็เช่น การพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ด้านพัฒนาข้อมูล ปริมาณผลผลิต รวมถึงการบริหารจัดการพื้นที่ปลูกแบบ near real time และการทำการเกษตรโดยอาศัยแอปพลิเคชันสำหรับการตรวจสอบโรคพืชและแมลงศัตรูพืช เป็นต้น
ส่องโมเดลการปรับใช้ เทรนด์เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ สร้างผลผลิตการเกษตรคุณภาพในระดับโลก
หากอ้างอิงตาม ข้อมูลที่ถูกนำเสนอในเวทีเสวนาใหญ่ยักษ์ระดับโลก Global Forum on Agriculture 2018 “Digital technologies in food and agriculture: reaping the benefits” ที่จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ในช่วงกลางปี 2018 ที่ผ่านมา ที่ได้สะท้อนความสำคัญของบทบาท “เทคโนโลยี” ว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรกรรม ทำให้การทำเกษตรกรรมยุคนี้ “ไม่เหมือนเดิม” อีกต่อไป และฟันธงว่าเกษตรกรที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง จะสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้

และในเวทีเดียวกันนี้ ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเกษตรสมัยใหม่ได้เน้นย้ำ คือ ตัวแปรของเทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับ ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีระดับสูง แต่ต้องช่วยเกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันนั้นได้จริง โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเชิงการเกษตร จะครอบคลุมตั้งแต่ การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ใช้งาน ไปจนถึงการแบ่งปันเทคโนโลยีนี้กันได้ เพื่อตอบบโจทย์การทำเกษตรในพื้นที่การเกษตรซึ่งอยู่ห่างไกล มีอุปสรรคในการเชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น เราขอหยิบยก ผลสำรวจจาก สถาบันวิจัย BIS Research ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ “Global Smart Farming Market” มายืนยันด้วยว่า มีการคาดการณ์แนวโน้มตลาดการเกษตรอัจฉริยะว่าจะขยายตัวได้ถึง 23.14 พันล้านดอลลาร์สหร้ฐ ภายในปี ค.ศ. 2022 สะท้อนสัญญาณที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 19.3%
โดยผลของการยอมรับและปรับใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะนี้ มาจากความต้องการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร การเติบโตของการใช้เทคโนโลยีไอซีทีในการทำเกษตร และความต้องการที่สูงขึ้นสำหรับเทคโนโลยีการเกษตรที่ฉลาดต่อสภาพภูมิอากาศ (climate-smart agriculture) เป็นปัจจัยสำคัญ

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะ จะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ปรากฎการณ์นี้จะขยายวงทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

ข้อสันนิษฐานนี้ยืนยันได้ด้วยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนและญี่ปุ่น ที่เกิดกระแสความนิยมในการใช้สมาร์ทโฟน และระบบ IoT มาเพิ่มความเก่งของโซลูชันการเกษตรแม่นยำ (precision agriculture) ขณะที่ รัฐบาลหลายประเทศ ก็ตระหนักถึงความจำเป็นและความได้เปรียบของเทคโนโลยีด้านนี้ ผลักดันโครงการนำร่องส่งเสริมเทคนิคในการพยากรณ์ที่แม่นยำสำหรับการเกษตร เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในอนาคตอย่างเห็นได้ชัด

เทรนด์การเกษตรแบบแม่นยำ โตแรงพร้อมกัน ทั่วโลก
อย่างที่เกริ่นมาว่า การเกษตรแม่นยำ หรือ precision agriculture ได้กลายมาเป็นเทรนด์การเกษตรสมัยใหม่ที่มาแรงที่สุดในยุคนี้ก็ว่าได้ ยืนยันได้ด้วย ตัวเลขเมื่อปีที่ผ่านมา ที่ระบุว่า โซลูชันระบบฮาร์ดแวร์ทางการเกษตร มีสัดส่วนมากกว่า 72% ของตลาดการเกษตรอัจฉริยะทั่วโลก โดยแอปพลิเคชันด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตรที่แม่นยำ ได้รับความนิยมสูงมาก มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 31% ทีเดียว

และตัวอย่างแอปพลิเคชันด้านนี้ ก็ได้แก่ แอปพลิเคชัน วิเคราะห์น้ำในดิน (precision irrigation) คาดการณ์และตรวจวัดผลผลิต (yield monitoring and forecasting) ให้ปุ๋ย/ยาฆ่าแมลง (variable rate) สอดส่องพืชผล (crop scouting) และช่วยจดบันทึกและการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

โดยปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ว่าจะทำให้ได้ประสิทธิผลดียิ่งขึ้นถ้านำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย คือ การเติบโตของพื้นที่เมือง ที่ส่งผลให้เกิดความต้องการผลผลิตทางการเกษตรที่สดใหม่ตลอดปีเพิ่มขึ้น โดยไม่มีเงื่อนไขของฤดูกาล และวิธีการปลูกในแบบวิถีเกษตรเดิมๆมาจำกัด ปัจจัยนี้เองที่ทำให้เราเห็นนวัตกรรมหลากหลายที่ถูกนำมาปรับใช้ในการทำเกษตรในร่ม (indoor farming) มากขึ้น

ทั้งนี้ ถ้ามองในภาพรวมทั่วโลก อเมริกาเหนือ ถือเป็นผู้นำตลาดเกษตรอัจฉริยะระดับโลก และมีอัตราความต้องการทางการตลาดสูงมาก ขณะที่ เม็กซิโก เป็นประเทศที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตลาดการเกษตรโลกที่เติบโตที่สุดในช่วง 5 ปีจากนี้

ส่วนภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รั้งตำแหน่งตลาดที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุด ในช่วงปี ค.ศ. 2017 – 2022 ด้วยปัจจัยขับเคลื่อน อย่าง ขนาดประชากรเมืองเพิ่มขึ้น สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรที่เพิ่มมากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล และยังมีปัจจัยเสริมที่สำคัญ คือ ที่การได้แรงหนุนจาก 2 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคอย่าง จีน และอินเดีย ที่เร่งสปีดตัวเองเพื่อต้องการขยับเป็นผู้นำด้านเกษตรอัจฉริยะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าของโลกด้วย
IoT-เซ็นเซอร์ จะกลายเป็นพระเอกของการทำเกษตรยุคดิจิทัล
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง หรือ IoT มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในลักษณะของการ Disruption ให้กับอุตสาหกรรมการเกษตร “ในเชิงบวก” และยังครอบคลุมไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีรายงานที่จัดทำโดย Cisco ประมาณการณ์ไว้ว่า มูลค่าตลาดการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี IoT จะขยับขึ้นไปสูงถึง 14.4 ล้านล้านดอลลาร์สหร้ฐ และด้วยเทคโนโลยีนี้นี่เอง ที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลจากกระบวนการทำการเกษตร ซึ่งจะจัดเก็บผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์จำนวนมหาศาลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่การเกษตรทั่วโลก

ข้อมูลเหล่านี้ยังหมายรวมถึงภาพถ่ายต่างๆ ที่ส่งตรงจากพื้นที่การเกษตรผ่านเซ็นเซอร์ ช่วยให้เกษตรกรสามารถเกาะติดและตามมอนิเตอร์พืชผลของตนเองได้ทุกที่ ทุกเวลา เพราะข้อมูลต่างๆจากเซ็นเซอร์จะส่งถึงมือเกษตรกรได้แบบเรียลไทม์ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถรับมือได้อย่างทันการณ์ เช่น ทำให้ทราบว่าเวลานี้ พืชผลที่ปลูกไว้ต้องการน้ำ หรือการบำรุงรักษาอื่นๆหรือไม่ ถ้าต้องการก็สามารถสั่งการณ์ เปลี่ยนแปลงคำสั่ง รดน้ำผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที

แนะ 3 นวัตกรรมที่ Agri-Tech Startup ไทย ควรรู้ เพื่อพัฒนาเกษตรอัจฉริยะในมือ ให้ก้าวไปต่อได้แบบไม่หยุด
มาถึงข้อเสนอแนะในการปรับใช้ เทรนด์เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ในบริบทของการเกษตรแบบไทยๆ ที่จะนำทางเกษตรกรยุคใหม่ของไทยไปสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่ยั่งยืน ซึ่ง บทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa.or.th) ได้ยกตัวอย่าง 4 นวัตกรรมที่ Agri-Tech Startup ควรรู้ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในการเป็นเกษตรอัจฉริยะในยุคนี้ ดังนี้

โดรนเพื่อการเกษตร
ในยุคนี้ เชื่อว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จัก โดรน (Drone) เพราะนวัตกรรมสุดล้ำนี้ได้เข้ามามีบทบาทในภาคการเกษตรมากมาย โดยเฉพาะเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำ เกษตรแบบแม่นยำ ได้มากโข ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ การพ่นยา การให้ปุ๋ย การถ่ายภาพวิเคราะห์เพื่อตรวจโรคพืช ซึ่งทำให้เกษตรกรประหยัดเวลาการทำงาน ประหยัดแรงงานทั้งยัง มีความปลอดภัยต่อผู้ฉีดมากกว่าการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิม หรือการใช้คนเดินฉีดด้วย

เพราะในการทำงาน ผู้ที่ทำการบังคับการบินของโดรนจะอยู่ด้านนอกแปลง จึงไม่สัมผัสกับสารที่ฉีดพ่น นอกจากนี้การพ่นยายังให้ละอองที่ละเอียดมาก เข้าถึงใบพืชทั่วถึง สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้สารเคมีได้น้อยลงถึง 50% ทำให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษา และควบคุมผลผลิตคุณภาพการผลิตได้อย่างแม่นยำ



เครื่องพยากรณ์โรคข้าว
เมื่อ ข้าว ยังเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของไทย นวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการปลูกข้าว จึงยังเป็นที่ต้องการของชาวนาไทย ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้คิดค้น เครื่องพยาการณ์การเกิดโรคในนาข้าว ซึ่งประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ที่ทำงานโดยอาศัยแบตเตอรี่พลังงานโซลาร์เซลล์ 

และทันทีที่เซ็นเซอร์ทำงาน ก็จะส่งสัญญาณไร้สายเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน พร้อมส่งข้อมูลประมวลผลเข้าสู่เว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลสถิติ ทำให้เกษตรกรสามารถดูข้อมูลแบบ Real Time ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา จากนั้นโปรแกรมจะวิเคราะห์ว่าอากาศแบบนี้มีแนวโน้มจะเกิดโรคอะไรตามมาในอีกกี่วัน พร้อมแจกแจงแนวทางป้องกันได้อีกด้วย ทำให้ช่วยลดการใช้ยา สารเคมี เสมือนมีภูมิคุ้มกันชั้นดีติดตัว

ระบบควบคุมน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ผ่านแอปพลิเคชัน
การจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งนับเป็นปัญหาหนักอกของเกษตรกรไทยมาโดยตลอด คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท (Smart Farm Kit)” ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ช่วยบริหารจัดการระบบการใช้น้ำที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า จากที่เคยใช้อยู่
ด้วยการทำงานร่วมกันของระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถสั่งตั้งเวลาเปิด-ปิดปั๊มน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ ที่ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นว่าหากต่ำกว่าที่กำหนด ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ และระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ที่ช่วยส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตรผ่านระบบสมาร์ทโฟนของเกษตรกร ได้ด้วย
0SHAREFacebookLINE it!

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

No comments yet
^