ทำเกษตรแบบคนรุ่นใหม่ “นัฐวุฒิ เนตรประไพ” กับสวนกล้วยไม้ตัดดอก 40 ไร่ ที่นนทบุรี
ความสำเร็จของเกษตรกรลูกค้าธ.ก.ส.ผู้นี้ ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะตนเองเป็นหลักเท่านั้น เขายังวางเป้าหมายในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอาชีพของเพื่อนเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพด้วยการเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชนกล้วยไม้แปลงใหญ่อำเภอบางใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ราย พื้นที่รวม 616 ไร่
อีกทั้ง คุณนัฐวุฒิในฐานะผู้จัดการกล้วยไม้แปลงใหญ่ ยังมุ่งเน้นการยกระดับการผลิตตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) อันเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรตามการส่งเสริมของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งเน้นแนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด โดยขบวนการผลิตจะต้อง ปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีไม่ทาให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่า ส่งผลให้ในวันนี้สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ครบทั้ง 34 ราย กลายเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตกล้วยไม้คุณภาพชั้นนำของประเทศไทย
ชอบแล้วต้องศึกษาเพื่อเริ่มต้น
หลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรีด้านวิศวคอมพิวเตอร์ คุณนัฐวุฒิได้เข้าทำงานประจำในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง และต่อมาวันหนึ่งเขาได้เกิดความคิดที่จะสร้างธุรกิจของตนเอง และเพื่อจะได้ทำงานที่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่ที่มีอายุมากแล้ว
“ด้วยผมเป็นคนชอบกล้วยไม้อยู่แล้ว ตอนทำงานหากมีเวลาว่าง ผมจะไปเที่ยวชมสวนกล้วยไม้ของคนที่รู้จักอยู่เสมอ ทำให้เราได้เห็นว่า การปลูกกล้วยไม้นั้นเป็นอาชีพที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้เป็นอย่างดี เมื่อตัดสินใจที่จะทำธุรกิจเอง ผมเลยเอาความชอบนั้นมาเปลี่ยนเป็นอาชีพ เริ่มต้นด้วยที่ดิน 4 ไร่ของครอบครัว ซึ่งเดิมนั้นทำสวนไม้ผล ปลูกมะม่วง และกระท้อน เป็นหลัก แต่ผมไม่ได้เริ่มต้นลงมือทำเลย ผมเริ่มต้นจากการไปศึกษาเรียนรู้ด้วยการไปช่วยญาติทำงานในสวนกล้วยไม้อยู่ประมาณ 1 ปี เพื่อให้เรามีทักษะความรู้ก่อนที่จะมาเริ่มต้นของเราเอง ในปี 2552” คุณนัฐวุฒิ กล่าว
บนความมุ่งมั่น นอกจากการศึกษาเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในทุกขั้นตอน เมื่อมาเริ่มต้นกับสวนของตนเอง อีกสิ่งที่เกษตรกรผู้นี้ได้นำมาใช้ คือ การนำเทคโนโลยีในระบบที่เรียกว่า สมาร์ทฟาร์ม (Smart farm) เข้ามาใช้ เพื่อการการจัดการดูแลสวนกล้วยไม้ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการใช้ระบบตลาดออนไลน์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เขาสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้ถึงในวันนี้
“กล้วยไม้ คือ สิ่งที่ผมรัก ผลผลิตทุกช่อ ทุกดอก เกิดจากความตั้งใจของเรา”
นั่นคือสิ่งที่ เกษตรกรผู้นี้บอกกล่าวถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ ก่อนที่จะนำเยี่ยมชมสายพันธุ์กล้วยไม้ที่ปลูกจำหน่าย คุณนัฐวุฒิกล่าวว่า จะเน้นสายพันธุ์ที่ตลาดต่างประเทศ อย่างประเทศจีน หรือประเทศทางยุโรปนิยม นั่นคือ พันธุ์ Dendrobium Sonia หรือชื่อเรียกในภาษาไทยคือ ปอมโจแดง เป็นกล้วยไม้สกุลหวายที่ให้ดอกสีม่วงเข้มโคนกลีบขาว ต้นเตี้ย เลี้ยงง่าย ให้ดอกดกออกดอกทั้งปี อีกทั้งยังมีข้อจุดเด่น คือ ช่อดอกมีอายุการใช้งานนาน เมื่อนำไปใช้เพื่อการประดับตกแต่งในรูปแบบต่าง ๆ
สำหรับต้นกล้วยไม้สกุลหวายพันธุ์ปอมโจแดงนี้ ปลูก 1 ครั้งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 4 ปี ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการจัดการดูแลด้วย
“สำหรับกล้วยไม้ปอมโจแดงที่ตัดเพื่อส่งจำหน่ายตลาดต่างประเทศนั้นจะประกอบด้วย 3 ขนาด คือ ช่อสั้น ช่อยาว และช่อซุปเปอร์ สำหรับส่วนที่ไม่ได้ขนาดเพื่อการส่งออก เช่น ความยาวไม่ได้ ดอกมีขนาดเล็ก ส่วนนี้เราจะตัดมาขายเป็นไม้ตลาดในประเทศ เช่น เอาไปกำกับต้นเตยเพื่อไหว้พระ ส่งให้กับแม่ค้าที่ปากคลงอตลาด”
“วันนี้ในทุกตลาดทุกประเทศต้องการสินค้าอย่างเดียวกันหมด นั่นคือ สินค้าที่มีคุณภาพ อย่างกล้วยไม้ต้องสวย ต้องมีคุณภาพ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเน้นการผลิตแบบมีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อสนองตอบให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า ขอให้ทำไม้สวยรับรองว่า จะมีผู้ซื้อของเราอยู่อย่างแน่นอน”
“ในกลุ่มแปลงใหญ่ของเราจะมีการใช้แอพพิคเคชั่นในเชื่อมข้อมูลด้านการตลาด และราคา ทำให้ทุกคนรู้ว่า ปริมาณความต้องการของลูกค้าและราคาพร้อมกัน ทำให้สะดวกต่อการจัดการ”
ขณะเดียวกันในด้านการพัฒนาสายพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายในส่วนของ NPP ORCHID เองนั้นเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่วางไว้ และได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จนประสบความสำเร็จกับการผสมพันธุ์กล้วยไม้สกุลหวายสายพันธุ์ใหม่ ที่เขาตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า NPP ซึ่งให้ดอกสีโอโรส หรือสีขาวอมส้ม ขณะนี้อยู่ระหว่างการขยายสายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้มากขึ้น
ทำเกษตรอย่าละทิ้งภูมิปัญญาชาวบ้าน
อีกหนึ่งหลักการที่สำคัญของการประกอบอาชีพการเกษตรของคุณนัฐวุฒิ คือ การอย่าละทิ้งภูมิปัญญาชาวบ้าน
“ผมว่ามองเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นเรื่องสำคัญ โดยในมุมคิดของผม ภูมิปัญญาชาวบ้าน คือ ภูมิภาค พื้นที่ต่าง ๆ ประสบการณ์ต่างๆที่เขาสั่งสมมา มันอาจจะมีความรู้ มันอาจจะมีคุณค่ามากกว่าการไปเอาเทคโนโลยีเข้ามาในบางช่วงเวลา เพราะผมเคยมีประสบการณ์ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาได้ เทคโนโลยีอาจไม่แก้ปัญหาได้ แต่เป็นการเชื่อมต่อหรือไปใช้ด้วยกัน การทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านกับเทคโนโลยีไปด้วยกันนี้ จะมีผลทำให้ผลผลิตดีขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น และสูงขึ้นเยอะด้วย”
อีกหนึ่งหนึ่งแนวทางของการลดความเสี่ยงด้านการตลาดที่คุณนัฐวุฒิได้ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่องคือ การเพิ่มชนิดของสินค้าที่จำหน่าย
“ในสวนของผมนอกจากจะมีกล้วยไม้แล้ว ผมยังมีไม้ประดับชนิดอื่นจำหน่ายด้วย เพื่อสร้างรายได้ ซึ่งเป็นการยึดหลักตามพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยเฉพาะข้อการปลูกป่า 3 อย่าง ได้ประโยชน์ 4 อย่าง โดยปลูกไม้หลายๆอย่างที่ตลาดต้องการ เช่น ปลูกเคราฤษี ปลูกมะนาวบนคันดิน เป็นต้น
อีกหนึ่งประเด็นที่เกษตรกรรุ่นใหม่ผุ้นี้ได้เล่าให้ฟังคือ ผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่นอกจากส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนแล้ว ยังได้ส่งผลกระทบในทุกภาคส่วนธุรกิจ NPP ORCHID คือหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบอย่างมาก
“ได้รับผลกระทบเยอะมาก ถือว่าเป็นวิกฤตที่หนักที่สุด โดยเฉพาะรายได้ แบบนี้นะครับ เราเคยขายกล้วยไม้ได้ 100 บาท แต่ตอนวิกฤตโควิด-19 รายได้เหลือเพียง 20 – 30 บาท หายไป 70-80 บาทเลยทีเดียว เพราะส่งออกไม่ได้ เราเลยต้องมาปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ เช่น การปรับมาส่งจำหน่ายในประเทศแทน สำหรับตัวผมตอนนั้นคิดว่า ถ้าเราผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปได้ ต่อไปก็จะไม่มีอะไรทำอะไรเราได้อีก”
คุณนัฐวุฒิ เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า แม้ขณะนี้สถานการณ์จะดีขึ้น การส่งออกกล้วยไม้ไปยังตลาดต่างประเทศพอได้กลับมาบ้าง แต่ก็ยังไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องแก้ไขปัญหาด้วยการปรับระบบการบริหารด้านการตลาดใหม่ โดยปรับเป็นขายในประเทศเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ และส่งออก 60 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่เน้นส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ และจำหน่ายในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยการทำตลาดในประเทศนั้นได้เน้นการจำหน่ายผ่านระบบตลาดออนไลน์เป็นหลัก และเน้นการคัดกล้วยไม้คุณภาพขายให้กับผู้ใช้ในประเทศ
“จากที่ผมได้ไปสำรวจตลาดดอกกล้วยไม้ในประเทศ พบว่า หลายจังหวัดหลายที่ศักยภาพการรองรับด้านการตลาดยังมีความต้องการใช้กล้วยไม้อยู่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ เมื่อส่งของไปให้ลูกค้าแล้วไม่สามารถเก็บเงินได้ ดังนั้นจึงต้องใช้เทคนิคในการสร้างประกันว่า จะสามารถเก็บเงินได้ เช่น การกำหนดให้มีการจ่ายเงินมัดจำก่อน เป็นต้น”
หนึ่งสิ่งที่เกษตรกรผู้นี้ได้เน้นย้ำเป็นการทิ้งท้ายนั้น คือ…
“ผมอยากให้ทุกคนมองว่า การทำเกษตรนั้นเป็นเหมือนอุตสาหกรรม เกษตรกรคือนักธุรกิจเกษตร ไม่อยากให้มองว่าเป็นเกษตรกรนะ ซึ่งแต่ก่อนนี้ภาพที่เรามองถึงเกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรนั้น จะเหนื่อย จะร้อน จะยากลำบาก แต่ตอนนี้ถ้าเราทำให้เป็นรูปแบบของธุรกิจ เป็นอุตสาหกรรม สามารถคิดต้นทุน คิดอะไรได้ และมีเป้าหมายในอนาคต โดยใช้แนวคิดที่ว่า ลดต้นทุนเพิ่มผลกำไร”
ทั้งนี้บนเส้นทางความสำเร็จของ NPP ORCHID ที่คุณนัฐวุฒิ หรือ “ต้อง” เนตรประไพ ได้ทุ่มเทดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 11 ปี ธ.ก.ส.หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นับเป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ได้มีบทบาทสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดย คุณอนุสรณ์ กาญจนภักดิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ธ.ก.ส.ได้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนการประกอบอาชีพของ NPP ORCHID ในทุกด้านที่เกี่ยวข้องภายใต้โครงการฟื้นฟูเกษตรกร ด้วย ธ.ก.ส.นั้นมีนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงและอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการสนับสนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคาร ธ.ก.ส.คาดหวัง และมุ่งหวังให้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยพัฒนาในเรื่องของการประกอบอาชีพด้านการเกษตรของประเทศไทย ซึ่งธ.ก.ส.นั้นพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนในทุกเรื่องแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ทุกคน